ปศุสัตว์เชียงใหม่ จัดระเบียบฝูงหมาจรจัดในศูนย์ราชการ ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ผู้คนเอามาทิ้งเป็นประจำ
ปศุสัตว์เชียงใหม่ จัดระเบียบฝูงหมาจรจัดในศูนย์ราชการ ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ผู้คนเอามาทิ้งเป็นประจำ
ปศุสัตว์เชียงใหม่ เร่งดำเนินการจัดระเบียบฝูงหมาจรจัดในศูนย์ราชการ แม่ค้าเปิดเผยว่ามีผู้คนนำมาทิ้งอยู่เป็นประจำ เตรียมหารือกับอาจารย์ มช. ขอรูปแบบการจัดการสุนัขจร พร้อมวางแผน 3 ระยะ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน
ปศุสัตว์เชียงใหม่ จัดระเบียบฝูงหมาจรจัดในศูนย์ราชการ พบผู้คนเอามาทิ้งอยู่เป็นประจำความคืบหน้าปัญหาฝูงสุนัขจรจัดครอบครองพื้นที่บริเวณลานจอดรถศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่มีเนื่องจากมีจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ไปติดต่อราชการ เป็นอย่างมากรวมทั้งบุคลากรที่ทำงานภายในศูนย์ราชการ โดยที่ผ่านมามีคนโดนสุนัขไล่กัดมาแล้วจำนวนหลายคน รวมทั้งยังถูกพวกมันกัดแทะและตะกุยทำร้ายรถที่จอดไว้จนเกิดความเสียหายไปจำนวนหลายคัน แม้หลายปีที่ผ่านมาทางจังหวัดจะพยายามจัดระเบียบเรื่องนี้แล้ว แต่ก็ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี ล่าสุดวันนี้ (1 มีนาคม 2566) ทีมข่าวได้สำรวจพื้นที่บริเวณลานจอดรถข้างอาคารสำนักงานศูนย์ราชการจังหวัด พบว่ายังคงมีฝูงสุนัขจรจัดอยู่จำนวนหลายสิบตัวที่อยู่ในพื้นที่ บางส่วนนอนอาบแดดอยู่กลางถนน รถที่ผ่านไปมาต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง
โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่ต้องคอยหลบและคอยระวังไม่ให้ถูกมันตามไล่กัด นายสัตวแพทย์อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังอยู่มานาน และทาง นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยในสัปดาห์นี้จะทำการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปในพื้นที่เข้าสำรวจจำนวนประชากรจำนวนฝูงสุนัขจรจัด และแหล่งที่อยู่ของพวกมัน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้จะเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีรูปแบบโมเดลในการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่มหาวิทยาลัยที่ได้ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายปี มาพูดคุยและร่วมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่
ขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทางปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ล่าสุดได้วางมาตรการแก้ไขไว้สามระยะ โดยระยะสั้นจะแยกสุนัขที่มีพฤติกรรมดุร้ายในฝูงออกมาก่อน และจะติดต่อนำไปให้กับมูนิธิภาคเอกชนได้ทำการดูแล ส่วนที่เหลือก็จะทำหมันเพื่อควบคุมประชากร รวมทั้งทำการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้ทุกตัวเพื่อความปลอดภัย มาตรการระยะกลางก็คือ จะมีการทำหมันเพื่อควบคุมประชากรสุนัขในส่วนที่เหลือ ซึ่งต้องมีความจำเป็นในการหลงเหลือไว้บางส่วน เนื่องจากพฤติกรรมของสุนัขจะหวงถิ่น หากนำไปทั้งหมดจะทำให้มีฝูงใหม่เข้ามาอยู่แทน ซึ่งกลัวว่าจะแก้ปัญหาไม่ได้อีก นายสัตวแพทย์อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะทำงานเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยหารือกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่มีทั้งฝั่งคนที่รักสุนัขที่อาจมองว่าการเข้ามาจัดระเบียบจะเป็นการทำร้ายสัตว์ และฝั่งคนที่ต้องการให้เอาออกจากพื้นที่ไป ซึ่งก็จะต้องร่วมมือกันหาทางออกที่ดีที่สุด ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาวจะมีการทำพื้นที่พักพิงให้กับสุนัขเหล่านี้ แต่เรื่องนี้จะต้องใช้เวลาในการดำเนินเรื่องของบประมาณ และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างนาน 1-2 ปี ทั้งนี้อยากที่จะขอความร่วมมือสื่อช่วยประชาสัมพันธ์ถึงประชาชนทั่วไปว่า จะต้องพิจารณาให้ดีว่า ตัวเองจะสามารถเลี้ยงสุนัขได้ดีหรือไม่ เพราะหากเลี้ยงไม่ได้แล้วนำมาปล่อยเช่นนี้ ก็จะเกิดปัญหาเรื้อรังแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆตามมา นางปภาศรี บุญจำ อายุ 62 ปี แม่ค้าที่ขายของอยู่บริเวณลานจอดรถ กล่าวว่า ขายของที่นี่มามากว่า 20 ปีแล้ว เห็นฝูงสุนัขพวกนี้มาโดยตลอด พวกมันเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
ที่ผ่านมาก็สร้างปัญหาไล่กัดคนที่ทำงานในส่วนราชการได้รับบาดเจ็บมาจำนวนหลายคน บางคนโดนไล่จนต้องวิ่งหนีขึ้นไปอยู่บนกระบะรถที่จอดทิ้งไว้นานกว่าครึ่งชั่วโมงกว่าพวกมันจะไป สาเหตุหลักๆก็คือมีคนนำมาทิ้งไว้ บางทียังเคยเห็นใส่กล่องมาทิ้งไว้มาจำนวนมากถึง 14 ตัว แล้วเขียนจดหมายฝากเลี้ยง อย่างไรก็ตามยอมรับว่าตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่รักสุนัขเช่นกัน ที่ผ่านมาก็รู้สึกสงสารพวกมันจึงมักจะเอาอาหารมาให้แต่อีกใจหนึ่งก็อยากจะให้มีการจัดระเบียบ จะได้ไม่ต้องสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นที่ผ่านไปผ่านมา โดยอยากให้ทำหมันเพื่อควบคุมประชากรสุนัขจรจัด และมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งหาบ้านใหม่ให้มันมีชีวิตที่ดีขึ้น.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น